จิตบำบัด (psychotherapy) คืออะไรนิยามที่สมาคมนักจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychological Association) ให้ไว้ คือการประยุกต์ใช้หลักการทางจิตวิทยาในเชิงคลินิก ผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือให้ผู้รับบริการสามารถปรับกระบวนการคิด อารมณ์ พฤติกรรม และลักษณะส่วนบุคคลที่เป็นปัญหาไปในทิศทางที่ผู้รับบริการต้องการ ต้องเข้ารับการบำบัดกี่ครั้งเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว แม้ว่าจะมีการวางแนวทางไว้ในบางรูปแบบของการทำจิตบำบัด เช่น การบำบัดแบบ CBT สำหรับโรคซึมเศร้า มักจะใช้เวลาประมาณ 6-8 sessions เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถที่จะตอบได้แน่ชัดเพราะมีหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ความรุนแรงของอาการ ความสม่ำเสมอในการเข้ารับการบำบัด ความต่อเนื่องในการทำการบ้านที่ได้รับมอบหมาย เหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นในชีวิตระหว่างการทำบำบัด รวมถึงการตัดสินใจยุติการบำบัดของผู้รับบริการด้วย ต้องกินยาร่วมกับการทำจิตบำบัดหรือไม่มีงานวิจัยมากมายที่สรุปว่าการทำจิตบำบัดร่วมกับการใช้ยาส่งผลดีกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียวหรือการทำจิตบำบัดเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะโรคและความรุนแรงของโรค ซึ่งในบางครั้งการทำจิตบำบัดอย่างเดียวอาจจะเพียงพอต่อการรักษา บางครั้งการใช้ยาร่วมด้วยอาจทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น หากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษานักบำบัดของท่านเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม หากกินยาแล้วมีอาการแพ้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่เป็นผู้จ่ายยาให้โดยตรง โดยอธิบายถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต หากมีผลข้างเคียงจากการใช้ยามาก สามารถขอปรึกษาก่อนเวลานัดได้ หากยาหมด ก็สามารถขอพบแพทย์เพื่อรับยาก่อนเวลานัดได้ ที่สำคัญอย่าหยุดยาเองเป็นอันขาด ปัจจุบันมีนักบำบัดมากมายที่เปิดให้บริการทำจิตบำบัด ควรพิจารณาจากอะไร อย่างแรกเลย คือ พิจารณาที่คุณสมบัติของนักบำบัด เช่น ในด้านการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงาน นอกจากนี้ ผู้ให้บริการควรมีใบประกอบโรคศิลปะ หรือใบประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง แต่ในท้ายที่สุด ผู้รับบริการควรพิจารณาเลือกนักบำบัดจากความรู้สึกของตนเอง เช่น สบายใจที่ได้มาคุยเพราะไม่รู้สึกว่าถูกตัดสินโดยนักบำบัด หรือได้แนวคิดใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น authorผศ. บุรชัย อัศวทวีบุญ
0 Comments
|
ผู้เขียนนักจิตวิทยาคลินิกจากรีมายด์ Archives
October 2024
Categories |